ปรึกษาให้คำแนะนำ

Search
Close this search box.
บทความ ภาษีสำหรับคนทำธุรกิจ

ภาษีสำหรับคนทำธุรกิจที่ควรรู้จัก

ภาษีสำหรับคนทำธุรกิจที่ควรรู้จัก ในการเริ่มทำธุรกิจ มีหลากหลายปัจจัยมากครับที่เจ้าของธุรกิจต้องคำนึงถึงเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนและจัดเตรียมความพร้อมก่อนลงมือทำจริง ซึ่งหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จำเป็นอย่างมากและพลาดไม่ได้เลยก็คือเรื่องของภาษีนั่นเองครับ ทำไมเราจะต้องเสียภาษีด้วยน่ะเหรอครับ?  เพราะการจ่ายภาษีนั้นถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่กฎหมายได้กำหนดไว้นั่นเอง ไม่ว่าในฐานะบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนหรือไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม ก็ต้องเสียภาษีกันทั้งสิ้นครับ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมในการทำเริ่มต้นธุรกิจ เรื่องของภาษีจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้ในการประกอบธุรกิจนั่นเองครับ โดยภาษีนั้นแยกเป็นสองประเภทด้วยกัน ดังนี้

ภาษีสำหรับคนทำธุรกิจ

ภาษีทางตรง คือภาษีที่เรียกเก็บจากเราโดยตรงและเราไม่สามารถผลักภาระเหล่านี้ไปให้คนอื่นได้ครับ และเราจะต้องเสียภาษีนี้ให้กับกรมสรรพากรทุกปี โดยภาษีทางตรงนั้นประกอบไปด้วย 2 ภาษีด้วยกัน ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเรียกเก็บผู้ที่มีรายได้จากธุรกิจรูปแบบบุคคลธรรมดา ภาษีนี้จะเก็บในอัตราก้าวหน้า (ตั้งแต่ 5-35%) โดยจะเก็บเป็นรอบปี ตามปฏิทิน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึง 31 ธันวาคมของทุกๆปี
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล จะจัดเก็บในอัตราคงที่หรือ 20 เปอร์เซ็นต์จากกำไรธุรกิจ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเรียกเก็บกับคนทำธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบของบริษัทฯ หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นประกอบด้วย 2 แบบ ดังนี้ (1) แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50 โดยต้องยื่นแบบแสดงรายการภายใน 150 วันหลังจากวันที่ปิดระบบบัญชี และ (2) แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 51 ในแบบแสดงรายการนี้ต้องยื่นภายใน 2 เดือนหลังบัญชีภาษีครึ่งปี 

ภาษีสำหรับคนทำธุรกิจ

ภาษีทางอ้อม คือภาษีที่เราสามารถผลักภาระทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ไปให้กับผู้บริโภคได้ ซึ่งแต่ละประเภทภาษีจะมีรูปแบบการจัดเก็บที่แตกต่างกันในแต่ละประเภท ภาษีทางอ้อมประกอบไปด้วยภาษีดังนี้

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ VAT โดยภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจะเรียกเก็บจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากคนทำธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการประเภทต่างๆ ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีประกอบไปด้วย ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ผู้ขายส่งขายปลีก ส่งออก ผู้นำเข้า ที่มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8 ล้านบาท
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิกไปหรือตามชื่อของภาษีคือเลือกจัดเก็บจากธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงบางธุรกิจเท่านั้น เช่น โรงรับจำนำ ธนาคารพาณิชย์ อสังหาริมทรัพย์ เป็น หากธุรกิจไหนที่ไม่เข้าข่ายกับธุรกิจที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ก็สามารถข้ามไปได้ 
  • อากรแสตมป์ อีกหนึ่งในภาษีตามประมวลรัษฎากร โดยภาษีประเภทนี้เรียกเก็บจากการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะที่รัษฎากรกำหนดไว้ หลายๆคนอาจจะสงสัยกันนะครับว่าอะไรคือตราสาร? ตราสารหมายถึงเอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘สัญญา’ นั่นแหล่ะครับ ยกตัวอย่างเช่น ตราสาร (สัญญา) เช่าที่กับโรงเรือน เช่าทรัพย์สิน เป็นต้น

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือภาษีที่ถูกหักไว้ “ล่วงหน้า” นั่นเองครับ โดยภาษีนี้เมื่อมีการจ่ายเงินเกิดขึ้น ผู้จ่ายเงินให้ตามเงื่อนไขจะต้องหักบางส่วนเพื่อส่งให้รัฐแทนผู้รับเงิน ที่เป็นอย่างนี้เพราะเป็นการลดภาระภาษีตอนปลายปีของผู้มีเงินได้จากการทยอยจ่ายเงินภาษีเรื่อยๆตามครั้งที่ได้รับเงิน ดีกว่าการจ่ายภาษีก้อนใหญ่ก้อนเดียว

แชร์โพสต์